วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

รวยด้วยของทอด

อาหารทานเล่นจำพวก “ของทอด” ส่วนใหญ่แล้วการทำไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ขายได้ ยิ่งช่วงเทศกาลถือศีลกินเจด้วยแล้ว บางร้าน “ทอดขายกันแทบไม่ทัน” ซึ่งมีอะไรที่น่าสนใจในเชิงอาชีพกับความง่ายของการทำอาหารจำพวกนี้ขาย? วันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีสูตร-ข้อมูลมานำเสนอ
ทิพย์ สุขดี หรือ ป้าทิพย์ อายุ 50 ปี เป็นเจ้าของร้าน เต้าหู้ทอด สามย่าน ซึ่งทอดขายมานาน 30 ปีแล้ว โดยเจ้าตัวเล่าว่า เริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยการช่วยน้องสามีขายที่ย่านศาลาแดง ต่อมาเขาเลิกขาย ก็เลยขายเอง แต่ทำเลที่เดิมค่าเช่าแพงขึ้น ลูกชายจึงหาที่ใหม่ให้เมื่อปี 2542 ก็ทอดขายมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันก็ 8 ปีมาแล้ว
สูตรทุกอย่างป้าทิพย์บอกว่า อาศัยจากประสบการณ์ที่ได้ช่วงที่ช่วยน้องสามีอยู่ และเมื่อมาเปิดร้านของตนเอง ก็ดัดแปลงจนเป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง จนมีลูกค้าประจำติดใจในรสชาติจนถึงทุกวันนี้
ของทอด
นอกจากที่ร้านนี้จะขายเต้าหู้ทอดเป็นตัวชูโรงแล้ว ก็ยังมี เผือกทอด, หัวไชเท้าทอด, ข้าวโพดทอด, เปาะเปี๊ยะทอด ขายด้วย เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า เพื่อไม่ให้สินค้าซ้ำซากจำเจ กับขั้นตอนการทำ เริ่มที่ “เต้าหู้ทอด” ก็ไม่ยาก แค่ไปสั่งซื้อเต้าหู้จากตลาด ซึ่งเต้าหู้ที่ใช้ประจำนั้นจะเป็น “เต้าหู้เหลือง” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เต้าหู้กระดาน” ราคากระดานละ 90 บาท แต่ละวันจะใช้ประมาณ 4-5 กระดาน นำมาตัดเป็นชิ้น ๆ ขนาดยาวประมาณ 3 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว เตรียมไว้
สำหรับของทอดชนิดอื่น ๆ ป้าทิพย์บอกว่า ถ้าเป็นเผือก และข้าวโพด ใช้ประมาณวันละ 7 กิโลกรัม ส่วนหัวไชเท้า ใช้วันละ 5 กิโลกรัม ขณะที่เปาะเปี๊ยะนั้นไม่ได้ทำเอง ซื้อแบบทำสำเร็จรูปที่พร้อมทอดขายได้เลยมาใช้
ขั้นตอนการทำ ถ้าเป็นเผือกก็ปอกเปลือกให้เรียบร้อย ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นบั้งเผือกตามแนวขวางรอบ ๆ โดยเผือก 1 หัว บั้งประมาณ 8-9 วง แล้วก็จะใช้ที่ขูดทำการขูดเผือกเป็นเส้น ๆ หากเป็นหัวไชเท้าก็ใช้ที่ไส (คล้ายที่ไสน้ำแข็ง) ไสไปเรื่อย ๆ จนหมดหัว ขณะที่ข้าวโพดดิบนั้นก็ให้ฝานตามฝัก
เต้าหู้ แค่ตัดเป็นชิ้นก็เตรียมทอดได้ ส่วนเผือก หัวไชเท้า และข้าวโพด ต้องผสมแป้ง เกลือ และน้ำด้วย
ขั้นตอนผสมแป้งนั้น ถ้าผสมครั้งละ 1 กะละมังย่อม ๆ ผสมแป้งหมี่ 1 กิโลกรัม ผงฟู (เพื่อให้กรอบ) 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือ (เพิ่มรสเค็ม) อีก 1 ช้อนชา คลุกเคล้าให้เข้ากัน ระหว่างที่คลุกนั้นให้ผสมน้ำลงไปด้วย ในปริมาณที่พอดี ๆ อย่าให้เละเกินไป และไม่ข้นจนเกินไป
สำหรับการทอด ตั้งน้ำมันพืชค่อนกระทะ เมื่อน้ำมันร้อนก็ค่อย ๆ หย่อนของที่จะทอดลงไป (เต้าหู้ใส่ลงไปได้เลย ส่วนของอื่น ๆ แบ่งชิ้นด้วยการตักทีละ 1 ช้อนโต๊ะ)
เมื่อใส่ของที่จะทอดลงกระทะแล้ว รีบเร่งไฟให้แรงขึ้นทันที เพื่อที่ของทอดนั้น ๆ จะไม่อมน้ำมัน ใช้เวลาทอดประมาณ 10 นาที ของทอดก็จะเหลือง กรอบ ส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ก็นำขึ้นมาพักให้สะเด็ดน้ำมัน รอขาย
ของทอดที่ร้านป้าทิพย์ทุกอย่าง จะขายในราคา 8 ชิ้น 20 บาท
“ของทอดจะอร่อยไม่ได้ ถ้าขาดน้ำจิ้มที่อร่อยด้วย” ป้าทิพย์บอก ดังนั้น สูตรเด็ดจริง ๆ ของร้านป้าทิพย์ที่ไม่เหมือนใครก็คือ “น้ำจิ้ม” นั่นเอง
ขั้นตอนการทำน้ำจิ้ม แยกทำเป็น 2 ส่วนหลัก
ส่วนแรกคือ นำพริกขี้หนูแดงสดมาปั่นให้ละเอียด เมื่อปั่นเสร็จแล้วให้ใส่เกลือลงไปด้วยเล็กน้อย แล้วใส่ถุงแช่เย็นเอาไว้ แล้วค่อย ๆ ทยอยเอาออกมาทำน้ำจิ้มขาย ซึ่งในแต่ละวันป้าทิพย์จะใช้พริกขี้หนูแดงประมาณ 1 กิโลกรัม
ส่วนที่สองคือ การทำน้ำเหนียว ซึ่งเหมือนกับการทำน้ำเชื่อม โดยเคี่ยวน้ำตาลทรายในสัดส่วน 15 กิโลกรัม ต่อน้ำเปล่า 2 ขัน จากนั้นเคี่ยวให้เหนียว พอใช้ได้แล้วก็ใส่บ๊วยลงไปประมาณ 1 ถุง (ถุงละ 60 บาท)
น้ำจิ้ม 1 ถุงสำหรับขายของทอด 1 ชุด จะประกอบด้วยน้ำเหนียวประมาณ 1 กระบวยครึ่ง พริกปั่น 1 ช้อนชา ถั่วบด เกลือเล็กน้อย และโรยหน้าด้วยผักชี
“ของที่ใช้จะต้องสด ๆ ใหม่ ๆ คือทำไปขายไป ไม่ขายของค้างคืน” คืออีกหนึ่งเคล็ดลับของป้าทิพย์
ใครสนใจที่จะไปลิ้มลองรสชาติสารพัด “ของทอด” สูตรป้าทิพย์ ร้านนี้อยู่ใกล้ป้ายรถเมล์ หน้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น บริเวณแยกสามย่าน ฝั่งถนนพระราม 1 ขายตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น.
และนี่ก็คือ “ช่องทางทำกิน” อีกช่องทางหนึ่ง ที่ถึงแม้จะเป็นแค่ “ของทอด” ที่อาจจะดูเป็นสินค้าพื้น ๆ แต่ถ้าฝึกทำจนคล่องแคล่ว ทอดออกมาได้อร่อยอย่างป้าทิพย์คนนี้ ก็สามารถสร้างรายได้ไม่เลวเลยทีเดียว!
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล-โสภนา กิตติรัตน์ชัชวาล
ที่มา : sanook.com

รวยด้วยซูชิ 5 บาท

ยุคนี้คนไทยนิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นกันไม่น้อย รวมถึงอาหารที่เรียกว่า “ซูชิ” ซึ่งก็มีผู้ที่นำเอาซูชิมาใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ ดังเช่นรายที่ทางทีมงานจะนำเสนอในวันนี้...

ศรีกาญจนา วงษ์ชื่น เจ้าของร้าน “ซูชิ ชิ้นละ 5 บาท” ทำขายกันใหม่ ๆ ที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง ขายมาเกือบ 1 ปีแล้ว เธอบอกว่า ด้วยความที่ชอบทำสิ่งสวย ๆ งาม ๆ จึงเปลี่ยนจากอาชีพเดิมมองหาอาชีพใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความชอบ ก็มีเพื่อนแนะนำให้ขาย “ซูชิ” พร้อมทั้งบอกวิธีทำ และสอนเทคนิคการทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ ซึ่งตนเองก็มีความมั่นใจในความคิดว่าอาหารประเภทนี้ยังพอมีทางไปได้แน่ ๆ แม้ว่าส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบก็ตาม หลังจากหาทำเลขายได้แล้ว วันแรกก็ไปซื้อของ วันที่สองนั่งหัดทำที่บ้านทั้งวัน พอวันที่สามจึงออกขายเลย ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าขายหมดตั้งแต่วันแรก
ซูชิ2
เมื่อประสบผลสำเร็จในวันแรก จึงมุมานะพยายามมากขึ้น ด้วยการออกแบบหน้าซูชิต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกเพื่อความหลากหลาย อันเป็นการสร้างแรงดึงดูดให้ลูกค้าแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนร้านมากขึ้น จากเดิมที่หน้าซูชิในระยะเริ่มแรกมีเพียง 8-9 หน้า เมื่อ 8 เดือนผ่านไป หน้าซูชิก็มีเพิ่มขึ้นถึง 30 หน้าแล้ว และเธอก็ยิ่งมีความมั่นใจว่าอาหารประเภทซูชินี้มีอนาคตแน่นอน หากมีฝีมือ และมีทำเลที่ดี

ในแต่ละวัน ศรีกาญจนาจะใช้ข้าวญี่ปุ่น เฉลี่ยวันละ 7 กก. ซึ่งราคาค่อนข้างสูง คือประมาณ 60 บาท/1 กก. ไม่สามารถลดต้นทุนด้วยการใช้ข้าวไทยได้ เพราะร่วน ไม่เหนียว เวลาห่อออกมาแล้วข้าวแตก ไม่เกาะกัน
นอกเหนือจากข้าวแล้ว วัตถุดิบอื่น อาทิ หน้าซูชิต่าง ๆ แผ่นสาหร่าย ซอสญี่ปุ่น วาซาบิ ก็ควรสั่งซื้อจากที่เดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสน

การหุงข้าว หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าแบบปกติ แต่มีเทคนิคในการเพิ่มรสชาติให้ข้าวไม่จืดชืดด้วยการเติมน้ำซุปสูตรพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างน้ำส้มสายชู 1 ถ้วย และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ที่ละลายให้เข้ากัน ราดลงให้ทั่วข้าวหลังจากที่ข้าวสุกแล้ว จากนั้นถ่ายข้าวสุกใส่ในภาชนะพลาสติกสีขาวอย่างดี ตั้งพักไว้ให้ข้าวเย็นลง เพื่อจะได้ไม่ร้อนมือเวลาที่ปั้นข้าว และต่อมาก็จะเป็นการม้วนข้าว ซึ่งจะใช้สาหร่ายแผ่น ขนาดประมาณ 8X5 นิ้ว ในแต่ละวันถ้าใช้ข้าว 7 กก. จะใช้แผ่นสาหร่ายประมาณ 70-80 แผ่น
ซูชิ1
การม้วนข้าวนั้นจะมีอุปกรณ์ตัวช่วย 1 อย่างที่ขาดไม่ได้ คือ แผ่นไม้ม้วนข้าว ทำมาจากไม้ วางแผ่นสาหร่ายลงไปบนแผ่นม้วนข้าว ตักข้าวประมาณ 1 ทัพพีกว่า ๆ ลงไปบนแผ่นสาหร่าย เกลี่ยข้าวให้ทั่ว บีบมายองเนสตามแนวขวางบนแผ่นสาหร่ายด้านบน เพื่อทำหน้าที่เป็นกาวให้แผ่นสาหร่ายติดกันเวลาม้วน จากนั้นม้วนข้าวให้เป็นก้อนกลม ซึ่งการม้วนข้าวนี้กว่าจะม้วนให้ออกมาสวยก็ต้องฝึกกันหน่อย ม้วนแล้วก็ใช้กรรไกรคมกริบตัดข้าวห่อสาหร่ายออกมาเป็นชิ้น ๆ ข้าวห่อสาหร่าย 1 แท่งจะตัดออกมาได้ 8 ชิ้น และข้าวสวย 7 กก. จะม้วนข้าวได้เท่ากับจำนวนสาหร่ายแผ่นที่ใช้ในแต่ละวัน

ต่อมาก็เป็นเรื่องของ “หน้าซูชิ” หน้าหลัก ๆ ที่จำเป็นต้องมีระยะเริ่มต้น มีเพียง 5-6 อย่างเท่านั้น ได้แก่ ไข่กุ้งส้ม 500 กรัม, ยำสาหร่ายเขียว 250-500 กรัม, กุ้งต้ม 100–150 ตัว, ปูอัด 100-150 ชิ้น, ไข่หวาน 500 กรัม, ปลาแซลมอน (ปลาดิบ) และครีมมายอง เนส หากขายแล้วได้กำไร ก็สามารถลงทุนซื้อหน้าเพิ่มได้อีก อาทิ ไข่กุ้งแดง ไข่กุ้งดำ ปลาไหล แมงกะพรุน ฯลฯ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า
หน้าซูชิหลัก ๆ ที่ต้องวางโชว์หน้าร้านแบบขาดไม่ได้มี 8-9 หน้า ได้แก่ หน้ากุ้ง, หน้าปูอัด, หน้าปลาแซลมอน (ปลาดิบ), หน้าไข่กุ้งส้ม, หน้ายำสาหร่ายเขียว, หน้ายำสลัดปูอัด, หน้าสลัดไข่กุ้งส้ม, หน้าไข่หวาน หลังจากนั้นก็เพิ่มความหลากหลายได้ถึง 30 หน้า อาทิ หน้าชีส, หน้าสลัดทูน่า, หน้าแมงกะพรุน, หน้าแฮม, หน้าปลาซาบะ, หน้าก้ามปู, หน้าหอยเชลล์ ฯลฯ โดยขายในราคาชิ้นละ 5 บาท

“ที่ร้านจะทำไปขายไป หากของเหลือก็จะไม่นำมาขายซ้ำอีก และของหมุนเวียนที่ใช้ทุกวันจะซื้อมาตุนคราวละจำนวนมาก ๆ แต่จะต้องให้หมดภายในเวลา 3 วัน” ศรีกาญจนาบอก

การทำหน้าซูชินั้น อารมณ์ต้องเย็น ต้องประณีตเพื่อความสวยงาม ที่สำคัญ ของที่ใช้แต่งหน้าซูชินั้น ต้องทำให้ดูมาก พูน น่าทาน ซึ่งก็ต้องตักเยอะจริง ๆ เมื่อลูกค้าซื้อไปทานแล้ว จะได้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป
สัดส่วนข้าวในปริมาณดังกล่าว ใช้เงินลงทุนวัตถุดิบรวมวันละประมาณ 3,000-4,000 บาท หากขายหมดจะได้เงินประมาณ 5,000-6,500 บาท ซึ่งล่าสุดกระแสความนิยมอาหารชนิดนี้ก็ยังไม่ตก

ศรีกาญจนา ขาย “ซูชิ ชิ้นละ 5 บาท” เป็น “ช่องทางทำกิน” อยู่ที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง เยื้องกับ 7-11 ทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 07.00-13.30 น. ใครหาร้านไม่เจอก็ โทร. 08-1614-9593.
ที่มา : sanook.com

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Justin Bieber, Gold Price in India