“ลูกอั่วกำลังไปเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว!!” ประโยคแซวของพ่อในวันนั้น แม้แต่ตัวของ “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” ก็คงไม่คิดว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันให้แบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” แจ้งเกิด และเติบโตอย่างน่าจับตา ก้าวสู่สัญลักษณ์ที่คนทั่วไปจะนึกถึงทันที เมื่อกล่าวถึงขนมสาหร่ายทอด ไม่เกินเลยหากจะบอกว่า ความสำเร็จของ “เถ้าแก่น้อย” เป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นแรงบันดาลใจที่ส่งให้เด็กหนุ่มวัยเพียงยี่สิบต้นๆ อย่าง “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” สามารถพาสินค้าของตัวเอง ขึ้นครองเจ้าตลาดสำเร็จ |
***ได้ดีเพราะติดเกม *** ปัจจุบัน อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ วัย 23 ปี ดำรงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์ มาร์เกตติ้ง จำกัด ทว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย อิทธิพัทธ์เป็นเพียงวัยรุ่นทั่วไปคนหนึ่ง ซึ่งติดเล่นเกมออนไลน์แบบงอมแงม เหมือนๆ กันเด็กวัยรุ่นไทยอีกครึ่งประเทศ
ทว่า จุดสำคัญเขาสามารถนำสิ่งที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าไร้ประโยชน์มาเปลี่ยนแปลงเป็นรายได้ และเมื่อบวกกับแรงบันดาลใจที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ปฐมบทแห่ง “เถ้าแก่น้อย” จึงเกิดขึ้น
“ผมเริ่มธุรกิจเมื่ออายุเพียง 18 ปี ก่อนหน้านี้ผมก็ขอเงินพ่อแม่เหมือนกับเด็กทั่วไป และติดเกมออนไลน์ Everquest อย่างหนัก เล่นทั้งวันทั้งคืน แข่งกับชาวต่างชาติ ผมเริ่มเล่นตั้งแต่เรียน ม.4 ถึงขนาดสะสมแต้ม จนรวยที่สุดในเซอร์เวอร์ ทำให้ชื่อตัวละคนของผมเป็นที่รู้จักในเซอร์เวอร์ จนมีฝรั่งมาขอซื้อของสะสม และแต้มสะสม ชื่อของผม ก็เลยลองขาย ปรากฏว่า หลังจากนั้น ก็มีเงินโอนเข้ามาจริงๆ” อิทธิพัทธ์ เล่าถึงเงินก้อนแห่งที่หาได้ด้วยตัวเอง
เขาสร้างรายได้จากการขายแต้มสะสมเกมออนไลน์ให้ผู้เล่นเกมในเซอร์เวอร์นานกว่า 2 ปี จนมีเงินเก็บหลักแสนบาท กระทั่ง จบระดับมัธยม และเข้าเรียนต่อปี 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เริ่มก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจอย่างเต็มตัว ตามความฝันที่อยากมีธุรกิจของตัวเองมานานแล้ว
“หลังเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงจังหวะที่เกมออนไลน์เริ่มเสื่อมความนิยมลง ผมคิดอยากหารายได้จากช่องทางอื่น เคยลองจับทั้งขายเครื่องวีซีดี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก ก็พยายามหาธุรกิจจะทำไปเรื่อยๆ เคยไปดูทำเลหน้า ม.หอการค้าไทย กะจะเปิดร้านขายกาแฟหน้ามหาวิทยาลัย”
“กระทั่ง ผมไปเดินงานแฟร์ช่องทางธุรกิจที่เมืองทองธานี เจอแฟรนไชส์เกาลัดจากประเทศญี่ปุ่นมาออกบูท ก็สนใจมาก เพราะแฟรนไชส์ของเขามีเครื่องคั่วเกาลัดแบบทันสมัย ผมก็เกิดความสนใจ เพราะส่วนตัวชอบกินเกาลัดอยู่แล้ว แต่ว่า ค่าแฟรนไชส์ราคาสูงมากเป็นล้านบาท ผมไม่มีเงินมากขนาดนัก เลยติดต่อกับเจ้าของแฟรนไชส์ว่า ผมจะขอเช่าตู้คั่วเกาลัด แล้วมาสร้างแฟรนไชส์ของตัวเอง” เจ้าของธุรกิจ เล่าให้ฟัง
***สร้างแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ***
ทุกย่างก้าวนับแต่อิทธิพัทธ์ เริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง จะอยู่ภายใต้การรับรู้ของสมาชิกครอบครัวทุกคน ผ่านการบอกเล่าและสอบถามความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะพ่อของเขา ที่จะเฝ้ามองลูกชายอย่างชื่นชม และพร้อมเป็นป๋าดันเต็มตัว
“หลังเช่าตู้ได้แล้ว เช้าวันที่ผมจะไปเซ็นสัญญาเช่าที่ขายเกาลัดหน้าห้างฯ แห่งหนึ่ง ก่อนเดินทางออกจากบ้าน เจอพ่อผมกำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนอยู่ เล่าถึงเรื่องผมจะไปทำธุรกิจ แล้วหันมาพูดแซวผมให้เพื่อนฟังว่า ‘ลูกอั่วกำลังไปเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว’ ผมก็ได้หัวเราะตอบ ไม่ได้เก็บมาใส่ใจอะไรมาก จนเมื่อไปถึงห้างฯ ต้องกรอกใบสมัคร ซึ่งให้ระบุถึงชื่อร้านหรือแบรนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมยังไม่มีชื่อในใจเลย แต่คิดถึง คำพูดพ่อที่แซวผม เลยเป็นที่มาของชื่อ “เถ้าแก่น้อย” มาจนถึงปัจจุบัน” อิทธิพัทธ์ เผยที่มาของแบรนด์
อิทธิพันธ์ ใช้เวลาเพียงปีเศษ ขยายสาขาแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อย จากหนึ่งเป็น 30 กว่าสาขา และเนื่องจากเห็นโอกาสว่า เมื่อมีหน้าร้านหลายแห่งแล้ว ทำไมต้องจำกัดตัวเองแค่ขายเกาลัดอย่างเดียว จึงลองนำเข้าสินค้าต่างๆ มาขายพ่วงที่หน้าร้านแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกท้อ ลำไยอบแห้ง และสาหร่าย ฯลฯ ผลปรากฏว่า ในร้านฯ สินค้าที่ขายดีที่สุด คือ สาหร่ายทอด ยอดขายเหนือกว่าเกาลัดเสียอีก เป็นแรงบันดาลใจ อยากจะต่อยอดธุรกิจขายสาหร่ายอย่างจริงจัง |
“หลังจากเห็นว่า ยอดขายสาหร่ายมันดีจริงๆ ผมก็เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสาหร่าย ผมอยากขยายตลาดธุรกิจสาหร่ายไปตามร้านค้าต่างๆ เริ่มแบบง่ายๆ โดยบรรจุซองพลาสติกไปฝากร้านค้าต่างๆ ให้ลองขาย แต่พอทำจริง มีอุปสรรค อายุสินค้าสั้น และรูปลักษณ์ไม่สวย ทำให้ไม่สามารถเปิดตลาดได้ มีของคืนจำนวนมาก เพราะสาหร่ายเก็บไว้ได้ไม่นาน ผมก็พยายามคิดค้นหาทางแก้ โดยถามผู้รู้ จนวันหนึ่งเข้าร้าน 7-11 ผมเริ่มสนใจตลาดในร้านสะดวกซื้อ คิดว่าถ้าสินค้าเราเก็บไว้ได้นานกว่านี้ มีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจ วางขายในร้าน 7-11 ตลาดน่าจะขยายตามไปด้วย ดีกว่าผมต้องวิ่งไปส่งด้วยตัวเอง”
เพื่อจะให้สาหร่ายเถ้าแก่น้อยเข้าขายในร้าน 7-11 อิทธิพัทธ์เริ่มจากนำสาหร่ายแพคซองพลาสติกง่ายๆ ไปฝากไว้ที่ฝ่ายคัดสรรสินค้าเข้าจำหน่าย ทว่า ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูแสนธรรมดา จึงไม่ได้รับการเหลียวแลแม้แต่น้อย
เมื่อไร้การติดต่อกลับเป็นเวลานาน เจ้าตัวร้อนใจถึงขั้นต้องโทร.ไปตามตื้อ และสอบถามสาเหตุที่สินค้าไม่ได้รับความสนใจ เจ้าหน้าที่ชี้แจงกลับมาว่า สินค้าคุณไม่สวย ไม่เหมาะกับ 7-11 เจออย่างนี้ เขาเลยกลับมานั่งคิดทบทวนใหม่ว่า ทำอย่างไรให้สาหร่ายเถ้าแก่น้อยมีสไตล์เป็นของตัวเอง และถูกใจคนทั่วไป
“ตอนที่กลับมาคิดว่า เราต้องสร้างสไตล์ของตัวเอง ผมมองว่ากระแสญี่ปุ่น เกาหลี กำลังมาแรง คนไทยหันมายึดเทรนด์นี้กันหมด ดังนั้น การออกแบบ ผมเน้นให้ออกมาในสไตล์ของญี่ปุ่นแท้ๆ ดูน่ารัก มีความสุข และสามารถจดจำได้ทันทีเมื่อเห็นครั้งแรก” “ด้านสีสันก็ให้สดใส มีโลโก้ที่สะดุดตา จำง่าย นอกจากนั้น พยายามชูธงเป็นของกินเล่นที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีแคลอรี่ต่ำ เหมาะกับกระแสรักสุขภาพ รวมถึง เพิ่มรสชาติให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรสเผ็ด รสซีฟู้ด เป็นต้น” เมื่อปรับปรุงสินค้าแล้ว อิทธิพัทธ์นำกลับไปเสนออีกครั้ง ผลที่ได้ หลังกลับมาบ้าน มีโทรศัพท์ติดต่อกลับมาทันที พร้อมกับคำถามว่า ภายใน 3 เดือนคุณพร้อมจะวางขายสินค้านี้ในร้าน 7-11 จำนวน 3,000 สาขาทั่วประเทศ หรือไม่
“ตอนนั้น ผมคิดในหัวเลยว่า 3,000 สาขา เราต้องทอดสาหร่ายสักกี่แผ่น ใช้คนทอดกี่คน จะทำทันไหมฯลฯ”
ระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที คำถามสารพัดวิ่งเข้ามาหัวเต็มไปหมด แทนที่จะปล่อยให้คำถามเป็นด่านขวางกัน กลับเลือกจะสลัดความกลัวต่างๆ ทิ้งไปแล้วตอบกลับว่า
“พร้อมครับ แต่หลังจากวางสาย สิ่งที่มันวิ่งเข้ามาในหัวผม มันเยอะมาก ผมคิดถึงการสร้างโรงงาน เงินทุน แหล่งวัตถุดิบ นำเข้าเครื่องจักร ฯลฯ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก” *** ทิ้งแฟรนไชส์ คว้าโอกาสใหม่***
ในวัยเพียง 20 ปี กับภาระต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเข้าขายในร้านสะดวกซื้อชื่อดัง มากกว่า 3,000 สาขา ถือเป็นภาระที่หนักแสนสาหัส โดยเฉพาะการหาทุนสร้างโรงงาน ดังนั้น อิทธิพัทธ์ได้ลองยื่นแผนธุรกิจ เพื่อขอกู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง ทว่า ผลที่ได้ คือ การปฏิเสธ เหตุผลสำคัญ เพราะผู้ยื่นกู้มีอายุเพียง 20 ปี ซึ่งอิทธิพัทธ์ชี้ว่า เป็นความบกพร่องของระบบสถาบันการเงินที่มองเพียงแค่ปัจจัยปลีกย่อย ไม่ยอมพิจารณาถึงแผนธุรกิจ ตลอดจนโอกาส และความมุ่งมั่นของเขา |
เมื่อกู้เงินไม่สำเร็จ เป็นที่มาของการตัดสินใจขายแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยทิ้งทั้งหมด ซึ่งเวลานั้น มีจำนวนกว่า 30 สาขา สร้างรายได้รวมให้เดือนละล้านกว่าบาท เพื่อมาเป็นทุนสร้างโรงงานผลิตสาหร่ายทอด
“ตอนตัดสินใจขายแฟรนไชส์เกาลัดทิ้ง มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้ายิ่งเป็นคนที่เคยปลุกปั้นธุรกิจมากับมือจะรู้ความรู้สึกของผมดี ว่า การขายทิ้งไม่ใช่เรื่องง่าย” “ความรู้สึกของผมเหมือนกับเรามีรถดีๆ สักคันขับอยู่แล้ว แต่กำลังอยากได้รถคันใหม่ แต่ไม่รู้หรอกว่า รถคันใหม่จะดีหรือเปล่า และช่วงที่ขายรถคันเก่าออกไป ต้องยอมนั่งรถเมล์ไปก่อน”
อิทธิพัทธ์ ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนั้น คือ จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตธุรกิจ เดิมพันระหว่างโอกาสแห่งความสำเร็จในอนาคต กับทุกอย่างที่สร้างมาต้องสูญไปหมด
“สำหรับ SMEs แล้ว ผมเชื่อว่าการกล้าตัดสินใจมีส่วนสำคัญให้ก้าวสู่ความสำเร็จ เหมือนกับคำที่ว่า ความเสี่ยงที่สุดในการทำธุรกิจ คือ คุณไม่คิดจะเสี่ยงทำอะไรเลย”
“การเสี่ยงครั้งแรกของผม คือ ตัดสินใจลาออกจากปี1 ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัว เพราะตอนนั้น แฟรนไชส์เกาลัด เริ่มมีสาขามาก ผมต้องทำเองทุกขั้นตอน แทบไม่มีเวลาเรียน จนผมต้องชั่งใจระหว่างจะเรียนต่อ หรือมาลุยธุรกิจเต็มตัว ซึ่งผมกลับมาดูตัวเอง ผมชอบทำธุรกิจ มีความสุขที่จะทำไปเรื่อยๆ ชอบเห็นคนมาซื้อสินค้าของผม เลยตัดสินใจดร็อบเรียน มาลุยทำธุรกิจเต็มตัว”
“ส่วนการเสี่ยงครั้งที่สอง คือ ตัดสินใจขายแฟรนไชส์ แล้วหันมาจับตลาดสาหร่ายทอดแทน โดยตอนนั้น ผมเชื่อว่า กระแสญี่ปุ่นในไทยจะต้องแรง เพราะดูการแต่งตัว อาหาร ดาราต่างๆ คนไทยนิยมสไตล์ญี่ปุ่นหมด”
เงินที่ได้จากการขายแฟรนไชส์เกาลัดเถ้าแก่น้อยหลักล้านบาท ถูกแปลงมาสร้างเป็นโรงงานผลิตสาหร่ายทอดอย่างเร่งด่วน ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ส่วนการผลิตสินค้าต้องเร่งรีบเช่นกัน อิทธิพัทธ์ เล่าว่า เขาพร้อมสมาชิกในครอบครัวทุกคน รวมถึง คนงานอีกแค่ 6-7 คน ทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงกำหนดส่งสินค้าแทบไม่ได้หลับนอน กระทั่ง 6 โมงเช้า ของวันกำหนดส่งสินค้า เขาขับรถที่ด้านหลังบรรทุกสาหร่ายเถ้าแก่น้อยเต็มคัน ส่งเข้าศูนย์จำหน่ายสินค้าของ 7-11 ได้สำเร็จ |
***ดันแบรนด์ผู้นำสแน็คสาหร่าย ***
ทั้งนี้ หลังจากได้เข้าขายในร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง สาหร่ายเถ้าแก่น้อย มียอดขายเติบโตด้วยดีสม่ำเสมอ รวมถึง มีการขยายประเภทสินค้าให้ตอบสนองลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ห่อละ 5 บาท ถึง 60 บาท เหมาะสำหรับเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ครอบครัว เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย
“ในระยะแรก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า กลุ่มผู้บริโภคที่แท้จริงของผมคือใคร ทำให้ต้องเลือกทำตลาดกับทุกคน ซึ่งถือว่า ผมโชคดีที่สินค้าสามารถเจาะตลาดได้กว้าง แต่สำหรับการทำธุรกิจในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ผมคิดว่า ควรจะมองการตลาดในแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อจะวางแผนการตลาดทั้งหมดไปในทิศทางถูกต้อง”
สำหรับการสร้างแบรนด์นั้น อิทธิพัทธ์ ระบุว่า ต้องการให้เถ้าแก่น้อยเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำสาหร่ายกินเล่น ทั้งด้านเจ้าตลาด และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้าชนิดนี้จริงๆ “หลังจากที่ทำธุรกิจสาหร่ายได้สักระยะหนึ่ง ผมเคยมีความคิดจะขยายไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้แบรนด์นี้ แต่กลับมานึกว่า จะทำให้แบรนด์กลายเป็นเลอะเทอะ จนคนไม่รู้ว่า เถ้าแก่น้อย คืออะไรกันแน่ ในที่สุดผมเลือกจะโฟกัสที่สาหร่ายอย่างเดียว ให้คนทั่วไปจดจำเราในฐานะเป็นตัวแทนของสาหร่ายกินเล่น ไม่ว่าคุณจะกินยี่ห้อไหนก็ตาม ชื่อของเถ้าแก่น้อยก็จะเข้าใจว่าเป็นตัวแทนของสาหร่ายกินเล่นเลย เหมือนเวลาเราไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็จะบอกว่าไปซื้อ “มาม่า” แต่ที่จริงเราจะไปซื้อยี่ห้อ “ไวไว” หรือไปซื้อผงซักฟอง ก็บอกว่าซื้อ “แฟ๊บ” ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะซื้อยี่ห้อ “บรีส” เป็นต้น” ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารภายในองค์กร หรือนำเสนอภาพลักษณ์ต่อมวลชนภายนอก แบรนด์เถ้าแก่น้อย พยายามตอกย้ำแนวคิดเป็นผู้นำ และผู้เชี่ยวชาญด้านสแน็คสาหร่ายเสมอ
“ผมเริ่มจากปรับความคิดของคนในองค์กรว่า เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่าย ซึ่งผมต้องเริ่มจากปรับทัศนคติในองค์กรก่อน ถ้าภายในเรายังปรับไม่ได้ เราจะไปปรับทัศนคติภายนอกได้อย่างไร”
“จากนั้น ผมสร้างแบรนด์ โดยโฆษณาโทรทัศน์ โดยใช้ “ครูคริส” (คริสโตเฟอร์ ไรท์ : ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง) โดยชูคอนเซ็ปท์ว่า “ seaweed is สาหร่าย เถ้าแก่น้อย” เพราะหลายคนไม่รู้ว่าคำว่า “seaweed” แปลว่า “สาหร่าย” การนำครูคริส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของครูสอนภาษาอังกฤษมาตอกย่ำ สอนคำนี้ แล้วพ่วงคำว่า เถ้าแก่น้อยลงไปด้วย ช่วยตอกย่ำว่า เถ้าแก่น้อยก็คือ ขนมสาหร่าย และขนมสาหร่าย ก็คือ เถ้าแก่น้อย”
“นอกจากนั้น เราทำกิจกรรมร่วมกับรายการโทรทัศน์ต่างๆ เช่น รายการกบนอกกะลา ถ่ายทำวิธีการผลิตสาหร่ายที่มาจากต่างประเทศ และการผลิตในโรงงานเรา เพราะผมเชื่อว่า การทำธุรกิจในปัจจุบัน จำเป็นต้องเปิดเผยกระบวนการผลิต วิธีการ และให้ทุกคนมีความรู้ในสิ่งที่เราทำว่า มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการปลูกฝังว่า แบรนด์เถ้าแก่น้อย คือผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายจริงๆ”
*** “เถ้าแก่น้อย” โกอินเตอร์ ***
ไม่เพียงตลาดในประเทศเท่านั้น หลังจากประสบความสำเร็จมาได้ประมาณ 2 ปี แบรนด์ไทยรายนี้ ก้าวต่อไปสู่ตลาดต่างประเทศ
“เมื่อมีความพร้อม ผมเริ่มไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ผมเชื่อว่า ตลาดสองชาตินี้ แม้จะมีปริมาณคนน้อย แต่มีศักยภาพซื้อสูงมาก ซึ่งสาเหตุที่ผมสนใจส่งออก เพราะมีเทรนด์เดอร์ นำสินค้าของผมไปขายที่สิงคโปร์ ผมก็เลยบินตามไปดู พบว่า สินค้าเถ้าแก่น้อยขายในร้านขายของชำทั่วไปในสิงคโปร์ ทำให้ผมคิดว่า สินค้ามันน่าจะขยายได้กว้าง ในห้างสรรพสินค้าของเขาก็น่าจะขายได้เช่นกัน”
แผนการเปิดตลาดต่างประเทศนั้น แทนที่จะเลือกใช้วิธีทั่วไปแบบมาตรฐาน คือออกงานแฟร์เกี่ยวกับอาหาร รอให้ลูกค้ามาติดต่อ แล้วสั่งสินค้าไปจำหน่าย อิทธิพัทธ์กลับเลือกจะทำตลาดเชิงรุก นำเสนอสินค้าด้วยตัวเองโดยตรง ผ่านทางอีเมลล์ “ผมอยากจะขายสินค้าตามห้างในสิงคโปร์ โดยไม่ต้องผ่านเทรนด์เดอร์ ซึ่งปกติเวลาไปออกบูทขายสินค้า เหมือนรอให้ลูกค้า เข้ามาหาเรา รอให้เขาเป็นฝ่ายเลือกเรา ผมก็เปลี่ยนแผนการตลาด เป็นฝ่ายเข้าไปหาลูกค้าเสียเอง ซึ่งผมไปดูตามชั้นวางสินค้าขนมในห้าง แล้วดูว่า มาจากประเทศใดบ้าง นำเข้าจากบริษัทใด ใครเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือเป็นผู้นำเข้า แล้วก็จดเบอร์ติดต่อ จากนั้น ก็ส่งอีเมล์ไปหา แนะนำสินค้า ไม่ต้องรอให้เขามาหาเอง ซึ่งได้ผลมาก ทำให้ผมได้เจอลูกค้าจริงๆ ซึ่งผมก็บอกเขาว่า ผมอยากจะนำสินค้าเข้ามาขายจริงๆ จนเขายอมนำสินค้าไปวางขาย ปัจจุบัน เถ้าแก่น้อยส่งออกไปหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวั่น อินโดนีเซีย เป็นต้น”
|
*** ต่อยอดขยายแบรนด์ “CURVE” ***
สำหรับยอดขายของ “เถ้าแก่น้อย” นับวันจะยิ่งทะยานสูง ยืนอยู่แถวหน้าของตลาดสแน็คประเภทสาหร่ายทอด เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายกว่า 500 ล้านบาท ปีนี้ (2551) ตั้งเป้า 750 ล้านบาท ไม่เท่านั้น อิทธิพัทธ์ ยังแตกแบรนด์ใหม่ “CURVE” ขยายฐานการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่ออุดทุกช่องว่างในตลาดของผลิตภัณฑ์สาหร่าย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“ผมเป็นคนมีเพื่อนผู้หญิงเยอะ และเพื่อนๆ มักชอบถามว่า กินเถ้าแก่น้อยแล้วอ้วนไหม ทั้งๆ ที่ตัวสาหร่ายมันมีแคลอรี่ต่ำอยู่แล้ว ทำไมสาวๆ ยังกังวลกันอีก ก็เลยคิดว่าหันมาจับตรงนี้เต็มตัวเลยดีกว่า ซึ่งนั่นก็คือที่มาของ CURVE”
และยังเป็นที่มาของ “แคลอรี่น้อย...อร่อยได้เต็มที่” คำจำกัดความที่อิทธิพัทธ์คิดขึ้นเพื่อใช้โปรโมท แบรนด์ใหม่ “CURVE” โดยมุ่งจับกลุ่มผู้หญิงวัย 18-30 ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ
“จุดเด่นสำคัญของ CURVE อยู่ตรงที่ใช้สาหร่ายเกรด A พันธุ์พรีเมี่ยม AJINSUKE NORI นำมาผ่านกระบวนการพิเศษ ทำให้มีเนื้อบางละลายในปากได้ สาหร่ายพันธุ์นี้ ให้พลังงานต่ำกว่า 15 กิโลแคลอรี่ และมีเส้นใยอาหารที่ช่วยดูแลระบบขับถ่าย ที่สำคัญยังเน้นที่รสชาติความอร่อยเป็นหลัก ผิดกับอาหารว่างเพื่อสุขภาพชนิดอื่นๆ”
ช่องทางการตลาดของ CURVE เป็นช่องทางเดียวกับ “เถ้าแก่น้อย” คือในโมเดิร์นเทรด เช่น โลตัส, บิ๊กซี, ท็อปส์, เซเว่นฯ
แต่จะเพิ่มช่องทางตามร้านเพอร์ซันนัลแคร์ สำหรับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่น ร้านวัตสัน, บูธส์, ร้านขายยาที่ดูมีเกรด รวมทั้งตามโรงภาพยนตร์ชั้นนำ Major, EGV และ SF Cinema
“เป้าหมายของ CURVE คิดว่าปีนี้ซึ่งเป็นปีแรก น่าจะได้สัก 50 ล้าน โดยยกลยุทธ์ราคาจะตั้งสูงกว่าเถ้าแก่น้อยนิดหน่อย”
เมื่อรวมกับ “เถ้าแก่น้อย” ที่ตั้งเป้าไว้ 750 ล้านบาท ถ้าทำได้ ปีนี้ก็แตะ 800 ล้านบาท ทั้งส่วนที่ขายในประเทศและส่งออก และเป้าหมายในระยะต่อไป วางไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กำลังลงทุนหลักร้อยล้าน เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ มีศักยภาพผลิตสาหร่ายได้ถึง 1,000,000 แผ่นต่อวัน
|
*** แจงปรัชญาธุรกิจ 3 ประการ ***
ด้วยวัยเพียง 23 ปี ต้องดูแลพนักงานกว่า 800 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีวัยมากกว่า จุดนี้ เจ้าตัวระบุว่าไม่ได้เป็นปัญหา เพราะพยายามมอบนโยบายอย่างให้เกียรติทุกคน และเอาชนะผู้ต่อต้านด้วยความสามารถ และเหตุผล
สำหรับหลักที่เขายึดในการทำธุรกิจตลอด มีหัวใจสำคัญ 3 ด้าน คือ ทัศนคติบวก ความรู้คู่จินตนาการ และกล้าคว้าโอกาส “ด้านทัศนคติ ผมเชื่อว่า การที่สินค้าของไทยจะส่งออกได้ ต้องปรับทัศนคติก่อน ถ้ามีทัศนคติว่า ทำยาก ทำไม่ได้ หรือสินค้าฉันเป็นแบบนี้ ก็จะขายอย่างนี้ มันก็ยากจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ก่อนที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใครสักคน หรือทำอะไรสักอย่าง เราต้องเริ่มที่ปรับทัศนคติเสียก่อน คิดว่าเราต้องทำให้ได้ แม้ว่า หนทางข้างหน้า จะมีขวากหนามหรืออุปสรคใดๆ ก็ตาม ขอให้ลองทำดูก่อน ทำไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที”
“ตัวอย่างจากตัวผมเอง จะพยายามคิดเสมอว่า ลองทำดูก่อน เหมือนตอนเปิดแฟรนไชส์เกาลัด แรกๆ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จด้วยดี อย่างสาขาแรก ผมเช่าหน้าห้างแห่งหนึ่ง ค่าเช่าวันละ 500 บาท วันแรกขายได้ 300 บาท เป็นอย่างนี้อยู่ 2 เดือนก็ท้อใจ บังเอิญ มีห้างแห่งนี้ มาเสนอให้ไปจัดโปรโมชั่นในห้าง ผมก็เลยลองดูอีกทีหนึ่ง”
“ปรากฏว่า ขายได้วันละ 5พันกว่าบาท ทำให้ผมเรียนรู้ว่าการทำธุรกิจไม่สำเร็จ อาจเกิดจากความรู้ไม่พอ ขายไม่ดีเพราะตั้งในจุดที่ไม่ใช่จุดที่ลูกค้าเป้าหมายจะผ่าน เพราะตอนนั้น ผมตั้งร้านที่ทางออกที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ ในขณะที่ เกาลัด ขายกิโลละ 2-3 ร้อยบาท จนวันที่ผมไปขายในห้าง ผมถึงรู้ว่า ที่ขายไม่ดี เพราะที่ผ่านมาทำเลไม่ได้ และฮวงจุ้ยไม่ดี ทุกวันนี้ ผมจะคิดถึงเรื่องทำเลตลอด ไม่ใช่แค่ที่ตั้งร้าน แต่หมายรวมถึง ตำแหน่งบนชั้นวางสินค้า”
“ด้านที่สอง คือ ความรู้ แม้การทำธุรกิจ คือ ความเสี่ยงก็จริง แต่ต้องทำให้เสี่ยงน้อยที่สุด เสี่ยงอยู่บนพื้นฐานความรู้จริง ไม่จะเริ่มต้นทำธุรกิจประเภทใด หลักที่ผมท่องเป็นคาถาส่วนตัว คือ ถาม ถาม และถาม”
“คาถานี้ ผมอยากให้เอสเอ็มอีทุกรายท่องไว้เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร ขอให้ศึกษาจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจที่ตัวเองจะทำ ซึ่งวิธีจะได้ความรู้ง่ายๆ คือ ถาม”
“อย่างตัวผมที่ไม่เคยมีความรู้ด้านเกาลัด หรือสาหร่ายมาก่อนก็ถาม ตอนผมทำเกาลัด ผมก็ไปเดินที่เยาวราช เดินถามความรู้ร้านเกาลัดตั้งแต่ต้นซอยถึงท้ายซอย ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ วิธีคั่ว วิธีเก็บ ราคา ฯลฯ ก็ถามไปเรื่อยๆ จนได้ความรู้ระดับหนึ่ง จากนั้นก็ศึกษาเพิ่มเติมจนเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับตอนทำสาหร่าย ผมเริ่มด้วยถามจากผู้รู้ต่างๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ตำราทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง บินไปดูแหล่งผลิต การปลูกถึงต้นตำรับ”
อิทธิพัทธ์ ระบุว่า เหตุที่จะทำให้สามารถจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานๆ จนสะสมความรู้อย่างถ่องแท้ ผู้ประกอบการควรจะรักและชอบในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่แล้ว
“ถ้าจะทำสิ่งใดๆ ให้ได้ดี ต้องมีความรักในสิ่งที่ตัวเองทำด้วย อย่างตัวผมเองชอบกินเกาลัด และสาหร่าย ทำแล้วสนุก และมีความสุข และในที่สุดเราจะกลายเป็นความเชี่ยวชาญ สามารถที่จะพลิกแพลงประยุกต์ให้สินค้ามีความต่าง มีจุดเด่นออกไปได้”
ทั้งนี้ เมื่อมีความรู้แล้ว ต้องเติมจินตนาการบวกเข้าไปด้วย
“ถ้ามีความรู้ ความชำนาญแล้ว แต่ขาดจินตนาการที่จะใส่ลงไป ความรู้จะถูกเก็บพับไว้บนหิ้ง แต่ถ้ามีความรู้ และใส่จินตนาการเข้าไป จะสามารถเปลี่ยนความรู้สู่ความเป็นจริงได้ และในแง่ของธุรกิจมันทำให้เกิดความแตกต่าง ผมยกตัวอย่างเช่น จินตนาการของคนที่อยากบินได้เหมือนนก นำมาสู่เครื่องบิน”
หลักข้อสุดท้าย คือ กล้าคว้าโอกาส อิทธิพัทธ์ ระบุว่า “ตอนผมทำธุรกิจเกาลัด 6-7 สาขา ผมต้องเลือกระหว่าง เรียนต่อให้จน กับออกมาทำธุรกิจเต็มตัว ถ้าผมเลือกเรียนต่อ ก็คงไม่มีวันนี้ หรือตอนที่ 7-11 โทร. ถามว่าพร้อมจะผลิตเข้า 3,000 สาขาหรือเปล่า ถ้าผมบอกว่า ยังไม่พร้อม หรือขอรอไว้ก่อน ก็อาจไม่มีวันนี้”
“ดังนั้น ผมจึงคิดว่า คนจะทำธุรกิจ ควรจะคว้าโอกาส ผมยกตัวอย่าง ชาวประมงคนหนึ่งออกไปหาปลาในวันที่คลื่นลมแรง และสามารถกลับมาด้วยความปลอดภัยพร้อมกับได้ปลามาด้วยจำนวนมาก จะเรียกว่าโชคดีหรือเปล่า สำหรับผมมันคือการคว้าโอกาส” |
*** It’s my life เถ้าแก่วัย 23 ปี ***
แม้แง่หนึ่ง อิทธิพัทธ์จะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง ทว่า ในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เขาก็เป็นหนุ่มวัย 23 ปี ที่ควรจะได้ใช้ชีวิตสนุกสนานให้สมกับวัย
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าไม่ได้สูญเสียชีวิตวัยรุ่นไปแต่อย่างใด เนื่องจากความสุขของเขาคือ การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
“ช่วงวัยรุ่น ผมก็เกเรไม่เบา แม้แต่เพื่อนที่เคยเรียนมาด้วยกัน ยังไม่เชื่อว่า ผมจะสามารถมามีวันนี้ได้ ซึ่งผมคิดว่า ตัวเองไม่ได้สูญเสียช่วงเวลาสนุกสนานอย่างวัยรุ่นไป เพราะผมมีความสุขที่ได้ทำธุรกิจ ผมเคยผ่านช่วงที่เที่ยวมาเช่นกัน แต่รู้สึกว่า มันก็เท่านั้นแหละ การทำธุรกิจทำให้ผมมีความสุข ที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดูแลคนที่อายุมากกว่าผม สนุกกว่าที่ผมได้ไปเที่ยว”
“และเป้าหมายต่อไป ผมอยากพาองค์กร และพนักงานในความรับผิดชอบที่มีอยู่กว่า 700-800 คน ให้อยู่รอดได้ แม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้อยู่แล้วก็ตาม”
สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้น เมื่อให้มองย้อนไปถึงแรงบันดาลใจขับเคลื่อนให้เขามีวันนี้ อิทธิพัทธ์ตอบได้ทันทีว่า คือ ครอบครัวของเขานั่นเอง
“พื้นฐานสำคัญมาจากครอบครัวของผมที่พร้อมจะเป็นกองหนุน และอยู่เคียงข้างเสมอ ทุนที่ผมใช้ทำธุรกิจ ผมมีอยู่2 ทุน คือ ทุนแรกจากการเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งผมได้เงินมา 3-4 แสน คิดว่า ถ้าเสียไป ก็ไม่เป็นไร เพราะมันก็เหมือนได้มาเปล่า แต่ถ้าลองทำดู นำสิ่งที่คิดเขียนลงกระดาษ ถ้าวางบนโต๊ะไว้เฉยๆ มันก็จะเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่ง แต่ผมมาลองทำ ผมคิดว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ได้มาใช้เป็นบทเรียน”
“และทุนที่สองเป็นทุนทางใจ ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ไม่ห้ามที่ผมจะหยุดเรียนเพื่อมาทำธุรกิจ แถมยังคอยช่วยเหลือให้กำลังใจ ถ้าวันนั้น พ่อห้าม หรือบอกให้รอเรียนจบก่อน ผมอาจจะไม่มีวันนี้ โอกาสมันอาจจะหลุดลอยไป” ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กหนุ่มคนนี้ เก่งและแกร่งเกินวัย สมกับเป็นยังเติร์กแห่งวงการธุรกิจไทย
จากประโยคแซวของพ่อในวันนั้น มาสู่การสร้างธุรกิจตัวเองจนเติบใหญ่ อาศัยความรู้ ความสามารถ ประกอบกับกล้าตัดสินใจเลือกคว้าโอกาสได้เหมาะสมและถูกจังหวะ ทุกวันนี้ แม้จะมีชื่อแบรนด์ว่า “เถ้าแก่น้อย” ทว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น น่าจะเข้าขั้น “บิ๊กเสี่ย” ทีเดียว |
1 comments:
นี่คือประกาศสาธารณะสำหรับทุกคนที่ต้องการขายไตเรามีผู้ป่วยที่ต้องการการปลูกถ่ายไตดังนั้นหากคุณสนใจที่จะขายไตโปรดติดต่อเราทางอีเมลของเราที่ iowalutheranhospital@gmail.com
นอกจากนี้คุณยังสามารถโทรหรือเขียนถึงเราได้ที่ whatsapp ที่ +1 515 882 1607
หมายเหตุ: รับประกันความปลอดภัยของคุณและผู้ป่วยของเราได้ตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวนมากให้กับทุกคนที่ตกลงที่จะบริจาคไตเพื่อช่วยพวกเขา เราหวังว่าจะได้ยินจากคุณเพื่อให้คุณสามารถช่วยชีวิต
แสดงความคิดเห็น