วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตามไปดูวิถีชีวิต ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน



"ใครว่าทำนาแล้วจน...ไม่จริงหรอก ทำนามันดีกว่าทำงานกินเงินเดือนอีก" นี่คือคำพูดยืนยันหนักแน่นจากปากของ ชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ที่ ชัยพร พรหมพันธุ์ กล้าการันตีแบบนี้ก็เพราะว่าชาวนาอย่าง ชัยพร พรหมพันธุ์ ทำกำไรเหนาะ ๆ หักต้นทุนเรียบร้อยแล้ว เมื่อฤดูกาลผลิตที่แล้ว 2,000,000 บาทเศษ และฤดูที่เพิ่งผ่านพ้นไป 1,000,000 บาทเศษ ๆ และตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีเงินเหลือใช้มากพอ จนสามารถกำหนดเงินเดือนให้ตัวเองและภรรยาในอัตราเดียวกับผู้บริหารเสื้อคอปกขาวในเมือง มีโบนัสจากผลประกอบการไม่เคยขาด โดยเฉลี่ยก็มีรายได้ตกคนละประมาณ 60,000 – 70,000 บาท ปีก่อนนี้ซื้อทองเส้นเท่าหัวแม่โป้งมาใส่ พร้อม ๆ กับถอยรถกระบะมาขับเล่น ๆ อีกต่างหาก

ซึ่งนอกจากเงินเดือนและโบนัสสูงแล้ว ชัยพร พรหมพันธุ์ ยังซื้อที่ดินขยายการผลิตออกไป 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 20 ปี ด้วยเงินสด ไม่เคยขาดทุนจากการทำนาต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2533 ไม่เคยมีหนี้สิน มีหลักประกันสุขภาพชั้นดี จากการส่งประกันชีวิตประกันสุขภาพระดับ A เดือนละร่วมแสน ส่งลูก 3 คน เรียนจบปริญญาโทโดยขนหน้าแข็งไม่ร่วง...วันว่างยังพาลูก ๆ ออกไปหาของกินอร่อย ๆ นอกบ้าน ชาวนาคนนี้เขาทำได้อย่างไร ทำไมชีวิตจึงมีเงินเก็บมากมายขนาดนี้ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปเรียนรู้การใช้ชีวิตจากเขากันค่ะ...

นายชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาวัย 48 อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอบางปลาม้า สมรสกับคุณวิมล พรหมพันธุ์ บุตรมี 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน รักอาชีพการทำนาเป็นชีวิตจิตใจ ความมั่งคั่งมั่นคงทั้งปวง ได้มาจากการทำนาโดยสุจริต ไม่เอาเปรียบดินไม่เอาเปรียบน้ำ คิดซื่อ ขยันขันแข็ง และมีสองมือหยาบกร้านจากการทำงานหนักเช่นชาวนาทั่ว ๆ ไป โดยชาวนาโดยส่วนใหญ่คู่กับตำนานยิ่งทำยิ่งจน ทำนาจนเสียนา แต่สำหรับเขา ทำนาบนที่ดินมรดกพ่อ 20 กว่าไร่ กับอีกส่วนหนึ่งเขาเช่าเพิ่มเติม ทำไปทำมาก็ซื้อที่นาเช่ามาเป็นของตัวเอง ปาเข้าไป 100 กว่าไร่ แถมซื้อที่นามาโดยไม่เคยกู้แบงก์ ไม่เคยเป็นลูกค้าขี้ข้าใคร



"ผมล้มมาเยอะเหมือนกัน" สำเนียงเหน่อ ๆ ของลูกชายคนโตของผู้ใหญ่บ้านแห่ง ตำบลบางใหญ่ ผู้เพียรพยายามหาหนทางตั้งตัว เคยทำแม้แต่นากุ้งและสวนผลไม้คละชนิด แต่สู้น้ำไม่ไหว ต้องกลับมาเป็นชาวนาตามรอยพ่อ

"ทำนาเคมีมา 20 กว่าไร่ ครั้งแรกปี 2525 ได้ข้าว 13 เกวียน จำได้แม่นเลย ขายได้เกวียนละ 2,000 บาท ขาดทุนยับ พอดูหนทาง เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คิดว่าจะได้เบิกเงินค่าเรียนลูก เพราะมองอนาคตแล้วว่าไม่มีปัญญาส่งลูกแน่ แต่ปี 2531 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอาละวาดหนัก แถวบ้านเราโดนกันหมด ก็พอดีอาจารย์เดชา ศิริภัทร ทำเรื่องนาอินทรีย์และใช้สมุนไพร มาขอทำแปลงทดลองปลูกสมุนไพร พ่อก็แบ่งนาให้ 5 ไร่ ด้วยความเกรงใจ อาจารย์ก็เริ่มทดลองใช้สะเดาสู้กับเพลี้ย เครื่องไม้เครื่องมือเยอะ ผมก็ไปช่วยอาจารย์ฉีด ก็ฉีดไปยังงั้น เราไม่ได้ศรัทธาอะไร แต่ปรากฎว่าแปลงนาที่สารเคมีเสียหายหมด ส่วนแปลงนาที่ฉีดสะเดากลับไม่เป็นอะไร

ผมก็เริ่มจะเชื่อแล้ว แต่ก็ยังไม่เต็มร้อย เลยเอามาทำในนาของผมเอง ซึ่งปีนั้นชาวนาโดนเพลี้ยกันเยอะมาก หน่วยปราบศัตรูพืชจังหวัด เขาเลยเอายาที่ผสมสารเคมีมาแจก ผมก็ลองเอามาใช้ โดยแบ่งว่าแปลงนานี้ฉีดสารเคมี แปลงนานี้ฉีดสะเดา ซึ่งผลก็ปรากฎออกมาว่า แปลงนาที่ฉีดสะเดาปลอดภัยดี เก็บเกี่ยวข้าวก็ดี แต่แปลงที่ฉีดสารเคมีตายหมด ตั้งแต่นั้นมาก็เลยเชื่อสนิทใจ แล้วมาลองทำเองดู ผมก็หักกิ่งก้านสะเดามาใส่ครกตำเอง ภรรยาก็บ่นว่าทำไปทำไมเสียเวลา แต่ผมรั้น คือยังไงก็ขอลองหน่อย ก็เอาไปฉีดแล้วข้าวก็ได้เกี่ยว ผลผลิตก็ออกมาดีเกินคาด ทีนี้ชาวบ้านก็แห่มาขอสูตรเอาไปทำบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีใครประสบผลสำเร็จ เพราะเขาใช้สมุนไพรคู่กับยาเคมี บางคนใช้เคมีจนเอาไม่อยู่แล้วถึงหันมาใช้สะเดา พอมันไม่ได้ผลทันตาเห็น ก็กลับไปใช้สารเคมีกันเหมือนเดิม” เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา กล่าว

การคิดต้นทุนของเขา ลงทุนเต็มที่ตกไร่ละ 2,000 บาท ในขณะที่ขายได้เกวียนละไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท ซึ่งหลังจากเขาทำนาอินทรีย์ได้เพียง 3 ปี มีเงินเหลือมากกว่า 6 ปี ที่มัวจมอยู่กับปุ๋ยยา อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก็ใช่ว่าชัยพรจะหวงวิชาความรู้ เขายังได้ให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหา และสนใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่โทรมถามาขอคำปรึกษาตามสายแทบจะทุกวัน



ใครว่าทำนาแล้วจน...ไม่จริงหรอก" ชัยพรยืนยันหนักแน่นซ้ำอีก สำคัญตรงที่ต้องทำนาแบบใช้สมอง ไม่ใช่ทำนาแบบเป็นผู้จัดการนาสถานเดียว

"ถ้าเป็นผู้จัดการนาล่ะจนแน่ มีมือถือเครื่องเดียวโทรสั่งตามกระแส มีนาอย่างเดียว ที่เหลือจ้างเขา เริ่มทำไร่นึงก็ต้องมีพันกว่า ตั้งแต่ทำเทือก ทำดิน ไปยันหว่าน เฉพาะได้แค่ต้นนะ ยังไม่รู้เลยว่าจะได้เกี่ยวไหม จากนั้นต้องฉีดยาคุมหญ้า ใส่ปุ๋ยอีกหลายพัน ของเราต้นทุนไม่กี่สตางค์ อาศัยว่าต้องละเอียดอ่อน ต้องรักษาธรรมชาติ แล้วก็ต้องเป็นลูกจ้างตัวเอง ไม่ใช่ผู้จัดการ พอไปพูดกับเขา เขาก็บอกนาเขาน้อย แล้วก็เช่าเขา ทำอินทรีย์ไม่ได้หรอก ผมก็บอกว่าเมื่อก่อนผมก็เช่า ทำไมยังทำได้ ทำจนมีเงินซื้อนา เขาไม่คิดย้อนกลับไงว่าสมัยปู่ย่าตายายทำนา มันมียาที่ไหนล่ะ คนโบราณยังได้เกี่ยว ของเรายังดี มีสะเดาให้ฉีด สมัยโบราณมีที่ไหนล่ะ ไอ้บางคนเห็นข้าวเราเขียว ก็บอกว่าคงแอบใส่ปุ๋ยกลางคืนละมั้ง แหม๋! กลางวันยังไม่มีเวลาเลย จะมาใส่ปุ๋ยกลางคืน มาฉีดให้งูมันเอาตายเรอะ" ชัยพร กล่าว

ทุกครั้งที่ขายข้าวได้ เขาจะนึกถึงบุคคลที่นำเอาวิธีเกษตรอินทรีย์มาให้เขาได้รู้จัก และปรับใช้ในที่นาของเขา จนมีเงินเหลือเก็บ ... "ถ้าผมไม่ได้เจออาจารย์เดชาก็คงไม่ได้เกิดหรอก คงไม่ได้ส่งลูกเรียนปริญญาโทไป 2 คน อีกคนก็ว่าจะเรียนปีหน้า ลูกมาทีเอาเงินค่าเทอมทีละ 40,000 – 50,000 บาท ก็ยังเฉย ๆ เรามีให้"

ขณะที่ อาจารย์เดชา ศริรภัทร แห่งมูลนิธิขวัญข้าว ผู้เพียรพยายามเผยแพร่วิถีการทำนาอินทรีย์ยืนยันว่า ไม่ได้ช่วยอะไรชัยพรมากกว่านั้น ความสำเร็จทั้งปวงเกิดจากตัวชัยพรเอง แต่สำหรับชาวนา ป.4 ถือเป็นบุญคุณใหญ่หลวงที่ทำให้เขาก้าวมาได้ถึงวันนี้

ลูก 3 คน ของชาวนา ป.4 คนโตกำลังเรียนปริญญาโท สาขาปรับปรุงพันธุ์พืช ที่มหาวิทยาลัยเกษตร กำแพงแสน คนกลางเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ส่วนลูกสาวคนเล็กเพิ่งจบปริญญาตรี เกียรตินิยม จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ตอนนี้ทำงานธนาคาร ทุก ๆ เย็นวันศุกร์ที่ลูก ๆ กลับบ้าน ครอบครัวชาวนาเล็ก ๆ ก็จะคึกคักมีชีวิตชีวา ขับรถออกไปหาของอร่อยกินกัน ในขณะที่ชาวนาต้นทุนสูงนาติดกันไม่เคยคิดฝันว่าจะมีโอกาสเช่นครอบครัวของชัยพร




ลมทุ่งพัดอู้มา เมฆตั้งเค้ามาทางขอบฟ้าตะวันตก นารกฟางของเขาแผ่ขยายออกไปลิบตา ชัยพรยืนพิงรถลากมองดูอย่างพอใจ ลูก ๆ โตกันหมด ได้เรียนกันสูง ๆ เปลื้องภาระไปอีกเปลาะ สองคนสามีภรรยาตกลงกันว่า นาปีนี้จะเอาโบนัสใหญ่คนละเส้น แล้วแบ่งรายได้แข่งกัน ลูกสาวคนโตบอกว่า เรียนจบโทเมื่อไหร่จะกลับมาช่วยพ่อทำนา จะได้เพลาแรงพ่อ แต่พ่อกลับบอกว่า ยังทำนาสนุกอยู่

"ลูกเขาไม่อายหรอกที่พ่อเป็นชาวนา พอเราออกทีวี อาจารย์เขาเห็น เพื่อนเขาเห็น ยังมาถามเลยว่า ไม่เห็นบอกเลยว่ามีพ่อเป็นถึงเกษตรกรดีเด่นของประเทศ บางทีต่อไปถ้าคนเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์กันทั้งประเทศ นาดีมีกำไรกันหมด การบอกใครต่อใครว่าเป็นลูกชาวนา อาจเป็นความภูมิใจ เหมือนกับยุคหนึ่งที่คนได้ปลื้มไปกับการเป็นลูกพระยาก็ได้" ชัยพร กล่าวหน้าบาน พร้อมเล่าต่อว่า ตอนนี้เรายังทำสนุก ก็อยากขยายที่ทำให้กว้างออกไป ทำไปเถอะ ทำไปเรื่อย ๆ ทำเพลิน ๆ ไม่ขาดทุนหรอก ทำนาน่ะ มีแต่กำไร บอกกับตัวเองว่าถ้าฤดูนี้ได้ร้อยกว่าเกวียนจะขอโบนัสทอง 10 บาท บอกอย่างนี้ก็เลยต้องขยันฉีดฮอร์โมน ทำดิน ทำจิปาถะ แล้วก็ได้

และนี่คือวิถีชีวิตของ ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาร้อยล้าน ที่สามารถลบคำกล่าวที่ว่า "ทำนามีแต่จน" ได้สำเร็จ… โดยทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เขาสามารถมีวันนี้ได้ก็เพราะการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นอีกด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคือ การเป็นคนขยัน ลงมือปฏิบัติเอง แถมไม่กู้หนี้ให้เป็นภาระอีกต่างหาก…

ที่มา : Kapook.com

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจไทยกับ SMEs”

สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) จัดงานสัมมนาผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อรายงานสถานการณ์และการเตือนภัย (ครั้งที่ 3/2552) เรื่อง “ทิศทางภาวะเศรษฐกิจไทยกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสรุปสถานการณ์ SMEs ปี 2552 และแนวโน้ม SMEs ปี 2553 พร้อมกันนี้จะมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว?” โดยนายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย หลักสูตร MBA และ IMBA มหาวิทยาลัยสยาม ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2552 เวลา 09.00–16.00 น. ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 19 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 19 มหาวิทยาลัยสยาม ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กทม. สอบถามรายละเอียด โทร. 02-2788800 ต่อ 466 , 127, 129

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เสริมทักษะเด็ก ผ่านการทำอาหาร กับธุรกิจ “a little something”

บางครั้งการไปเปิดหูเปิดตาในต่างประเทศ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดำเนินธุรกิจได้เหมือนกัน เฉกเช่น 2 หนุ่มสาวที่ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ที่คิดเพียงแค่การไปเที่ยวงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับซูเปอร์มาร์เก็ต จนกระทั่งได้ไปเจอกับอุปกรณ์ทำครัวสำหรับเด็ก ที่ทุกอย่างออกแบบมาให้มีขนาดเหมาะสมเพื่อเด็กเล็กโดยเฉพาะ ซึ่งเพียงเห็นเป็นครั้งแรกก็หลงรัก ไอเดียบรรเจิดคิดไปไกลถึงขั้นการเปิดสถาบันสอนทำอาหารสำหรับเด็ก ที่สุดท้ายความฝันนั้นก็เป็นจริงสู่ “a little something” หรือ สถาบันสร้างเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการทำอาหาร


‘มาสนุกและเรียนรู้ผ่านการทำอาหารกันเถอะ’ สโลแกนง่ายๆ แต่ให้ความหมายที่ชัดเจนและลงตัว ของ 2 หนุ่มสาว ที่มีความฝันเดียวกันคือการเป็นเจ้าของธุรกิจ อาศัยความรู้ความชำนาญที่แตกต่างกันมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของเด็กหนุ่มที่ หลงใหลในการออกแบบ “บิน จรรยาภัค” ส่วนอีกหนึ่งสาวคือ “วรางคณา กาญจนชูศักดิ์” ที่มีความรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจ แม้จะทำอาหารไม่เป็น แต่ก็ยังเลือกทำธุรกิจด้านนี้ หลังจากมองเห็นช่องว่างทางการตลาดในประเทศไทยที่ยังไม่มีใครคิดทำธุรกิจ ประเภทนี้อย่างจริงจัง แต่สำหรับในต่างประเทศผู้ปกครองต่างให้ความสำคัญกับการให้ลูกฝึกทักษะจากการ ทำอาหาร

ซึ่งสถาบันสร้างเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการทำอาหาร เริ่มต้นจากความบังเอิญเมื่อครั้งไปดูงานแฟร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ประเภทสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตและของขวัญ โดยไปสะดุดตากับอุปกรณ์ทำครัวสำหรับเด็ก ซึ่งความคิดแรกเพียงต้องการเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น แต่เมื่อได้ศึกษาตลาดอย่างถ่องแท้แล้ว ก็พบว่าธุรกิจนี้น่าช่วยให้เด็กไทยได้ฝึกทักษะ ด้านการทำครัว เพราะไม่เพียงแต่เด็กจะได้รับความเพลิดเพลินแล้ว แต่ยังได้ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการฝึกคำนวณจากการชั่งตวงวัตถุดิบ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เด็กๆ จะใช้ฝึกทักษะด้านภาษาอังกฤษ เนื่องจากหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นภาคภาษาอังกฤษ ที่แม้เด็กที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษมากนัก ก็สามารถเรียนได้


“เป็นความตั้งใจแต่แรกที่เราคิดจะสอน เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเชื่อว่าเด็กจะได้เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษไปในตัว โดยไม่ต้องอาศัยการท่องจำ ในขณะที่เด็กได้ลงมือทำอาหารเอง สิ่งที่ไม่ชอบรับประทานก็จะทานเองโดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองบังคับ เช่น ผัก ผลไม้ ที่เด็กบางคนไม่เคยรับประทาน โดยเมื่อทำเสร็จก็นำไปอวดให้ผู้ปกครองได้รับประทานกันในครอบครัว”

ส่วนบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของสถาบันฯ ถูกออกแบบให้เด็กๆ รู้สึกเหมือนกับอยู่บ้าน ทำให้เด็กไม่เกิดความกลัวเมื่อยู่ในสถานที่ใหม่ๆ ในขณะที่ห้องครัวจำนวนทั้ง 2 ห้องประกอบด้วยชุดครัวคุณภาพสูง ซึ่งครัวห้อง b ถูกออกแบบสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี และห้องครัว a สำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี และผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีห้องนั่งเล่น และรับประทานอาหารสำหรับเด็ก และผู้ปกครองเพื่อนั่งพักผ่อน และรับประทานด้วยกัน ส่วนครูผู้สอนมีทั้งหมด 6 คน โดยสัดส่วนอยู่ที่ ครู 1 คน/เด็ก 4 คน

“ความโด่ดเด่นของสถาบันฯ ซึ่งนอกจากจะเน้นไปที่การเพิ่มทักษะให้เด็กแล้ว ชุดอุปกรณ์ก็ออกแบบมาโดยเฉพาะเช่นเดียวกัน จากบริษัท ซันคราฟต์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์ทำครัวจากประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1948 ภายใต้การควบคุมการผลิตและออกแบบโดย นายคาวาชิมา ซากาโมโตะ ฮิโรโกะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น”

แม้จะเปิดมาเพียงไม่กี่เดือน แต่กระแสการตอบรับก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากเด็ก และผู้ปกครอง ที่มีการลงเรียนคอร์สต่อไปทั้งอาหารคาวและหวาน ที่ส่วนใหญ่เมนูยอดนิยมของเด็กอายุระหว่าง 3-5 ปี คือ “Let’s make Pasta : Spaghetti” ที่เด็กๆ จะเริ่มจากการทำเส้นพาสต้า ที่ผ่านการรีดออกมาเป็นเส้นเล็กกลมและยาว และเมนู “Little Picasso: Bread Canvas” เป็นการทำขนมปังปั้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อนำมาใช้เป็นผ้าใบวาดรูป ส่วนเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี เมนูยอดนิยมคือ “Let’s make some Special Pasta” ซึ่งเป็นการทำเส้นพาสต้าโดยใช้วัตถุดิบต่างๆ ทำให้เกิดสีและรสชาติพิเศษ และนำมาทำเป็นรูปทรงต่างๆ

ส่วนแผนธุรกิจในในอนาคต 2 หนุ่มสาวตั้งใจที่จะทำให้สาขานี้มั่นคงที่สุดก่อน แล้วจึงมองหาทำเลที่เหมาะสมต่อไปอาจจะเป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งที่ผ่านมามีหลายคนที่สนใจต้องการจะขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ในขณะที่แผนการประชาสัมพันธ์จะเน้นไปที่โรงเรียนนานาชาติ โดยเข้าไปสอนเป็นคอร์สให้กับโรงเรียนที่สนใจ เป็นต้น

***สนใจติดต่อ 0-2762-7899 หรือที่ www.a-littlesomething.com***

ที่มา : ผู้จัดการ

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สร้างรายได้จากดอกไม้จันทน์



ผู้เขียนรู้จักกับรุ่นน้องคนหนึ่ง เค้ามีรายได้มาจากการทำดอกไม้จันทร์ขายส่งตลาดไทยและทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันเลยทีเดียว เพราะรวมกลุ่มแม่บ้านแถวต่างจังหวัดทำกัน เลยอยากแนะนำต่อสำหรับผู้ที่มีเวลาว่าง แต่ไม่รู้จะทำอะไรดี อยากได้เงินก็คงต้องลงแรงกันสักหน่อย หากใครอยากได้รายได้เสริมลองลงเรียนทำดอกไม้จันทร์กับที่นี่ดู

แสงธรรมดอกไม้จันทน์ เป็นผู้ผลิตดอกไม่จันทน์ ขายปลีก และส่ง กำลังขยายงาน เนื่องจากมีการสั่งซื้อเข้ามามากมาย แต่ไม่อาจจัดตาม order ได้ครบถ้วน จึงคิดว่าตลาดดอกไม้จันทน์นี้ยังกว้างมาก หากสอนให้คนที่ต้องการมีรายได้พิเศษนอกเวลางาน ได้ทำเป็นรายได้เสริม ก็น่าจะดี บวกกับอาจมีคนช่วยทำ เพราะเมื่อทำเป็นแล้วก็จะรับซื้อด้วย ผู้ที่สนใจจะเรียนทำดอกไม้จันทน์ สามารถติดต่อนัดเวลาเรียนได้ รับจำนวนจำกัด (1 คอร์ส ไม่เกิน 2 คน) ทำเป็นแล้วยินดีรับซื้อ แต่หากจะหาตลาดขายเอง ก็ไม่ขัดข้อง และจะได้กำไรมากกว่าด้วย เพราะไม่ต้องผ่านตัวกลาง
สนใจคุยรายละเอียดที่ 07-9252682 นัท

*** รายละเอียดการเรียนคร่าว ๆ

- เปิดสอนในวัน เสาร์ บ่าย 3 โมงครึ่ง
วันอาทิตย์หรือวันหยุดมี 3 รอบ คือ
9.00 –12.00, 12.30 –15.00, 15.00-18.00
- ค่าเรียน 400 บาท อุปกรณ์การเรียนฟรี
- สอนทำ 2 แบบ คือ พุ่มเชิญและดอกเดี่ยว
พุ่มเชิญมี 9 ดอก ต้นทุน 5 บาท รับซื้อราคา 10 บาท (ถ้าหาตลาดเองก็จะได้ราคาดี ประมาณ 15-30 บาท)
ดอกเดี่ยว ต้นทุน ร้อยละ 40 บาท รับซื้อร้อยละ 70 บาท (ถ้าหาตลาดเองจะขายได้ประมาณ ร้อยละ 80-140 บาท แล้วแต่ต่อรอง)
***สำหรับผู้ที่อยู่ในเขต กทม. ทางร้านจะหาตลาดแถวบ้านท่านไว้ให้ขายเองโดยตรง***

น้ำผัก-ผลไม้ปั่นสด


“น้ำ ผัก-ผลไม้ 100% คั้นสด” เป็นอีกรูปแบบการขายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า คั้นกันสด ๆ ให้ดูกันเห็น ๆ ไม่มีน้ำตาล ได้รับคุณประโยชน์ทางโภชนาการล้วน ๆ เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่จะริมทาง หน้าโรงเรียน ตลาดนัด ฯลฯ ที่ไหนก็ทำเงินได้ ซึ่งวันนี้ทีมงานเราก็มีข้อมูลมานำเสนอ...

นิชาภา บ้วนนอก ขายน้ำผัก-ผลไม้ 100% คั้นสด แยกกากจากเครื่องคั้นสด (juicer) อยู่ที่ถนนข้าวสาร เจ้าของร้านนี้บอกว่า ขายน้ำผัก-ผลไม้100% คั้นสดมา 5 ปีแล้ว ซึ่งเป็นรูปแบบนำเสนอที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยที่มาของร้านนี้คือการคั้นน้ำผัก-ผลไม้ให้คุณพ่อดื่มด้วยเครื่องคั้นสด แบบแยกกาก ซึ่งเป็นการทำตามแนวชีวจิต และก็มาคิดว่าน่าจะทำเป็นรูปแบบของธุรกิจค้าขายได้ จึงค้นคว้าศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

การขายในรูปแบบคั้นสดของร้านนี้จะ โชว์ผลไม้เป็นชิ้น ๆ หน้าร้าน เกิดขึ้นเพราะเจ้าของร้านก่อนหน้านี้เวลาไปทานน้ำผลไม้ที่ไหนไม่ชอบอ่านเมนู และเมนูส่วนใหญ่ก็เหมือน ๆ กันหมด น่าจะ “ให้เห็นผลไม้สด ๆ แล้วเลือกเอาว่าจะผลไม้ชนิดไหน-อย่างไร” ตามใจคนกิน โดยผู้ขายก็ช่วยแนะนำ และ “เพื่อสุขภาพจริง ๆ จะต้องไม่ใส่น้ำตาล ไม่มีน้ำเชื่อม” ถ้ามีก็จะกลายเป็นน้ำปั่นไป แต่ก็เป็นอีกรูปแบบการขาย ก็สุดแท้แต่

ร้าน ของนิชาภาจะจัดหน้าร้านโดยออกแบบให้ดูทันสมัย คล้ายร้านผลไม้ในเมืองนอก โดยทำเป็นเคาน์เตอร์ เรียงผลไม้ต่าง ๆ เป็นชั้น ๆ และแปะราคาไว้ เช่น เสาวรส 2 ลูก 10 บาท, ส้ม 3 ลูก 10 บาท, ฝรั่ง ลูกละ 10 บาท, แตงโม ชิ้นละ 10 บาท, สับปะรด ชิ้นละ 10 บาท, มะม่วงสุก ผลละ 25 บาท, แอปเปิ้ล ลูกละ 20 บาท, แก้วมังกร ชิ้นละ 20 บาท, ว่านหางจระเข้ ชิ้นละ 10 บาท, บีทรูท หัวละ 20 บาท , มะเขือเทศ 2 ลูก 10 บาท, แครอท หัวละ 20 บาท, มะเฟือง ลูกละ 20 บาท, ต้นเซเลอรี่ ก้านละ 15 บาท ฯลฯ

และยังมีขิงแก่ มะนาว และมะระขี้นก ซึ่งเป็นตัวเพิ่มรสชาติด้วย

เมื่อ ลูกค้ามาสั่งก็เลือกผลไม้ได้เลย ซึ่งนิชาภาบอกว่า เจ้าของร้านต้องมีความรอบรู้เรื่องผักและผลไม้ ทั้งในเรื่องคุณประโยชน์และรสชาติ บางครั้งต้องแนะนำลูกค้าได้ว่าอะไรกับอะไรเมื่อคั้นรวมกันแล้วจึงจะอร่อย

นอก จากนี้ ที่ร้านนี้ยังได้จัดชุดแบบล้างพิษ หรือดีท๊อก ชุดละ 40 บาท ประกอบไปด้วย แอปเปิ้ลเขียว, แอปเปิ้ลแดง, ขิงแก่, บีทรูท, ว่านหางจระเข้, แครอท และต้นเซเลอรี่ และชุดน้ำพั๊นซ์ ประกอบด้วย มะเฟือง, สับปะรด, ส้ม, เสาวรส, แตงโม, ฝรั่ง, แอปเปิ้ล ราคาชุดละ 40 บาทเช่นกัน

นิชาภา บอกว่าเมนูไม่มีสูตรตายตัว แล้วแต่ลูกค้าสั่ง แต่ที่นิยมก็มี มะม่วง+สัปปะรด, มะม่วง+เสารส, แครอท+แอปเปิ้ล หรือถ้าเป็น 3 อย่างก็มีเสาวรส+สัปปะรด+มะม่วง, ว่านหางจระเข้+สัปปะรด+ส้ม ซึ่งว่านหางจระเข้ตอนนี้เป็นที่นิยมมาก ๆ ในหมู่คนญี่ปุ่น ส่วนราคานั้นก็ขึ้นอยู่กับราคาชิ้นของผักและผลไม้ตามที่ติดไว้หน้าร้าน หรืออยากจะทานน้ำที่มีเอ็นไซม์มาก ๆ ก็แนะนำน้ำจากต้นอ่อนข้าวสาลี ซึ่งขายเป็นชอต ราคาชอตละ 50 บาท

ในการขายอุปกรณ์การที่จำเป็น นอกจากมีด เขียง ที่คั้นน้ำส้มแล้ว ก็มีเครื่องคั้นน้ำแบบแยกกากที่สำคัญมาก อย่างน้อยต้องมี 2 เครื่องขึ้นไป เพื่อสลับใช้ ป้องกันการอุดตัน และการเสื่อมสภาพที่รวดเร็ว โดยราคาเครื่องก็ตั้งแต่มีหลักพันขึ้นไปจนถึงเป็นหมื่น ตามคุณภาพของเครื่อง

เวลา ขาย เมื่อลูกค้าเลือกผลไม้แล้ว เช่น มะม่วง+สัปปะรด ก็ปอกเปลือก เลาะเม็ด ตัดเนื้อผลไม้ออกมาเตรียมไว้ ใส่น้ำแข็งยูนิตในแก้วพลาสติกประมาณ 3 ก้อน แล้วนำเนื้อผลไม้แต่ละอย่างคั้นน้ำสดออกมา เมื่อเสร็จก็คนให้เข้ากันกับน้ำแข็ง ปิดฝาแก้ว ใส่หลอด ถ้าเมนูนี้ก็ขายในราคา 35 บาท ซึ่งแก้วจะมีขนาด 12,16 และ 22 ออนซ์ ราคาก็แตกต่างกันไป ระหว่างที่ขายก็ต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องคั้นสดเรื่อย ๆ เพื่อกันการอุดตัน

นิชาภาบอกว่า การขายน้ำผัก-ผลไม้คั้นสด 100% นั้น ในระยะเริ่มแรกน่าจะลงทุนเพียงผลไม้ 5 อย่าง อาทิ แตงโม, สัปปะรด, ส้ม, แครอท, ฝรั่ง ซึ่งเครื่องคั้นสดแบบแยกกากก็เลือกเอาตามสภาพแวดล้อม การลงทุนผักผลไม้ถ้าประมาณ 500 บาทต่อวัน แล้วขายหมด ก็น่าจะได้เงินประมาณ 1,000 บาท เริ่มแรกก็ขายเล็ก ๆ ก่อน เมื่อไปได้ดีแล้วจึงค่อย ๆ ขยับขยายร้าน “อาชีพแบบนี้กลุ่มลูกค้าและทำเลเป็นเรื่องสำคัญ”

ร้าน น้ำผัก-ผลไม้ 100% คั้นสดของนิชาภาที่ถนนข้าวสาร อยู่ด้านหน้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น (ตรงกลาง) ตรงข้ามกับร้านข้าวสารเซ็นเตอร์ ขายอังคาร-อาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

และเป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา...!!

ที่มา : เดลินิวส์

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Justin Bieber, Gold Price in India